วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การศึกษาชีววิทยา

  การศึกษาชีววิทยาของนักวิทยาศาสตร์
                ชีววิทยาเป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง  ดังนั้นการศึกษาทางชีววิทยาจึงต้องอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (scientific  method)  ซึ่งเป็นเครื่องมือในการสืบเสาะแสวงหาความจริงหรือความรู้ต่างๆ  ในธรรมชาติของนักวิทยาศาสตร์ (scientists)  หรือนักชีววิทยา (biologist)  เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในปัจจุบันและอนาคตต่อไป วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (scientific method) วิธีการทางวิทยาศาสตร์  เป็นวิธีการที่นักวิทยาศาสตร์ค้นคว้าหาความรู้ มีหลักเกณฑ์ และมีวิธีการพื้นฐาน ดังนี้
การกำหนดปัญหาที่ได้จากการสังเกต (problems and observation) ปัญหาเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา  แต่การตั้งปัญหาที่ดีนั้นกระทำได้ยากมาก  แอลเบิร์ต  ไอน์สไตน์ (Albert  Einstein)  นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน  เชื้อสายยิวได้กล่าวว่า “การตั้งปัญหานั้นสำคัญกว่าการแก้ปัญหา”  ทั้งนี้เนื่องจาก  การตั้งปัญหาที่ดีและมีความชัดเจนย่อมนำไปสู่การแก้ปัญหาได้  เนื่องจากปัญหาที่ตั้งขึ้นจะมีความสัมพันธ์กับความรู้เดิมและข้อมูลที่รวบรวมไว้แล้วก็สามารถวางแผนในการแก้ปัญหาได้  การตั้งปัญหาที่ดีนั้นต้องเป็นปัญหาที่เป็นไปได้  มีคุณค่าต่อการค้นคว้าหาคำตอบ  และสามารถวางแนวทางในการพิสูจน์เพื่อหาคำตอบได้  ส่วนปัญหาที่เลื่อนลอยและยากต่อการพิสูจน์หาความเป็นจริงนั้นเป็นปัญหาที่ไม่ดีและไม่มีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์
การสังเกต  (observation)  เป็นลักษณะพื้นฐานอันดับแรกของนักวิทยาศาสตร์  ที่นำไปสู่ความอยากรู้อยากเห็น (curiosity)  เมื่อสังเกตเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมา  ก็ทำให้อยากทราบว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น  ซึ่งก็คือเกิดปัญหาขึ้นนั่นเอง  ซึ่งจะต้องมีกระบนการในการเสาะแสวงหา  ค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ต่อไป  ดังนั้นความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ก็มาจากการสังเกต  และความอยากรู้อยากเห็นนั่นเอง

การสังเกต  เป็นการใช้ประสาทสัมผัสของร่างกาย  ได้แก่  ตา  หู  จมูก  ลิ้นและอวัยวะสัมผัส และการคิดของสมอง  ดังนั้น  คนที่สังเกตได้ดีจะต้องมีสมองที่ฉับไว  สงสัยและอยากรู้อยากเห็นในสิ่งต่างๆ รอบตัวเสมอ  ข้อสำคัญของการสังเกตอีกอย่างก็คือ  อย่าเอาความคิดเห็นส่วนตัวไปอธิบายสิ่งทีได้จากการสังเกตเพราะจะทำให้ข้อเท็จจริงที่ได้จากการสังเกตไม่ตรงตามความเป็นจริง  โดยมีการใส่ความคิดเห็นส่วนตัวของผู้สังเกตเข้าไปในข้อเท็จจริงนั้นๆ ด้วย
 ศึกษาข้อเท็จจริงที่ได้จากการสังเกต  ดังนี้
  • ต้นหญ้าใต้ต้นไม้ใหญ่มักจะไม่เจริญงอกงาม
  • ต้นหญ้าที่อยู่ใต้หลังคามักจะไม่เจริญงอกงาม
  • ต้นหญ้าบริเวณใกล้เคียงดังกล่าว  แต่ได้รับแสงสว่างเต็มที่  เจริญงอกงามดีถ้าหากนักเรียนใส่ความเห็นส่วนตัวลงไปด้วย  อาจทำให้ได้ข้อเท็จจริงจากการสังเกตเป็นดังนี้
  • ต้นหญ้าใต้ต้นไม้ใหญ่และใต้หลังคามักจะไม่งอกงาม  เนื่องจากไม่ได้รับแสงจึงสังเคราะห์ด้วยแสงไม่ได้ และถูกต้นไม้ใหญ่แย่งอาหาร
  • ต้นหญ้าบริเวณใกล้เคียง  แต่ได้รับแสงสว่างเต็มที่  เจริญงอกงามดี  เนื่องจากคลอโรฟีลล์ที่อยู่ในใบ สังเคราะห์ ด้วยแสงได้ดีจึงทำให้เจริญงอกงาม เป็นต้น
อเล็กซานเดอร์  เฟลมิง (Alexander  Fleming)  นักจุลชีววิทยาชาวอังกฤษได้สังเกตพบว่า  แบคทีเรียในจานเพาะเชื้อไม่เจริญ  ถ้าหามีราสีเขียวที่ชื่อ  ราเพนิซิลเลียม (Penicillium sp.) เจริญอยู่ด้วยและยังพบอีกว่า  ราเพนิซิลเลียมสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียได้  จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น  จึงทำให้เฟลมิง  ศึกษาค้นคว้าจนพบว่า  ราเพนิซิลเลียมสร้างสารปฏิชีวนะ  เพนิซิลลิน  (Penicillin)  ออกมายับยั้งการเจริญของแบคทีเรียได้  และเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง  ต่อมนุษยชาติในเวลาต่อมา   เฟลมิงโชคดีที่บังเอิญพบเหตุการณ์ดังข้างต้นนั้น  ซึ่งในสภาพจริงๆ  แล้วในธรรมชาติจะเกิดเหตุการณ์ตางๆ มากมายแต่ทำไมหลายๆ คนไม่มีโอกาสค้นพบได้เลย  ดังนั้นผู้ที่ค้นพบเหตุการณ์ต่างๆ ได้จะต้องเป็นบุคคลที่ช่างสังเกต  ช่างคิด  อยากรู้อยากเห็น  ชอบค้นคว้าหาคำตอบเท่านั้นจึงจะหยิบยกเหตุการณ์เหล่านั้นมาเป็นของตนได้ การสังเกตที่ลึกซึ้งทางวิทยาศาสตร์ในสิ่งที่ประสาทสัมผัสทั้งห้าไม่สามารถรับรู้ได้  จะต้องมีการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และสารเคมีต่างๆ  เข้าช่วย  เช่นการสังเกตเซลล์แบคทีเรีย  ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์หรือกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนเข้าช่วย  และอาจต้องมีการย้อมสีเพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้นด้วย
การตั้งสมมติฐาน (creative hypothesis)  เป็นการพยายามหาคำตอบหรือคำอธิบาย  ซึ่งอาจเกิดจากการคาดคะแน  หรือสมมติขึ้นมา  ซึ่งอาจเป็นจริงหรือไม่จริงก็ได้  ดังนั้นสมมติฐานจึงเป็นคำตอบปัญหาชั่วคราว หรือการคาดคะเนที่ต้องมีการพิสูจน์หาเหตุผลประกอบอีกเพื่อให้แน่ใจว่า  สมมติฐานนั้นเป็นจริง การตั้งสมมติฐานที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ  เพราะสามารถอธิบายถึงปัญหาได้อย่างชัดเจนถูกต้อง  โดยการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลหรือข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดจากการสังเกต เช่น ข้อมูลจากการสังเกต  (เป็นข้อเท็จจริง) “ปลาที่เลี้ยงไว้ในตู้ปลาตายหมด” ปัญหาที่ได้จากการสังเกต คือ ทำไมปลาจึงตาย             

  สมมติฐานที่ตั้งขึ้น (คือคำอธิบายหรือคาดคะเนคำตอบที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและปัญหา)
  • ปลาตายเพราะขาดออกซิเจน
  • ปลาตายเพราะขาดอาหาร
  • ปลาตายเพราะเป็นโรคบางอย่าง
  • ปลาตายเพราะน้ำเน่าเสีย
จะเห็นได้ว่า  ข้อมูลจากการสังเกตซึ่งก่อให้เกิดปัญหาเพียงปัญหาเดียว  สามารถตั้งสมมติฐานได้หลายอย่าง  ซึ่งแต่ละอย่างก็เป็นเพียงการคาดคะเนเท่านั้น  ยังไม่เป็นที่ยอมรับ จนกว่าจะมีการทดสอบสมมติฐานนั้นอย่างรอบคอบเสียก่อน  การตั้งสมมติบาน นิยมใช้คำว่า
       “ถ้า_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _  _ _ _ _ _ ดังนั้น” _ _ _ _ __ _ _ _ 
เช่น ข้อเท็จจริงที่ได้จากการสังเกต  
  • ต้นหญ้าใต้ต้นไม้ใหญ่มักไม่เจริญงอกงาม 
  • ต้นหญ้าที่อยู่ใต้หลังคามักไม่เจริญงอกงาม   
  • ต้นหญ้าบริเวณใกล้เคียงที่ดังกล่าว  แต่ได้รับแสงเต็มที่จะเจริญงอกงามดี
ปัญหาของสถานการณ์ คือ “แสงสว่างเกี่ยวข้องกับการเจริญงอกงามของหญ้าหรือไม่”  สมมติฐานจะเป็น ดังนี้ “ถ้า  แสงสว่างเกี่ยวข้องกับการเจริญงอกงามของหญ้า ดังนั้น  หญ้าที่ได้รับแสงสว่างจะเจริญงอกงาม” หรือ “ถ้า  แสงสว่างไม่เกี่ยวข้องกับการเจริญงอกงามของหญ้า ดังนั้น  หญ้าที่ไม่ได้รับแสงสว่างจะเจริญงอกงามเมื่อรวมสองสมมติฐานเข้าด้วยกัน “ถ้า แสงสว่างเกี่ยวข้องกับการเจริญงอกงามของหญ้า ดังนั้น หญ้าที่ได้รับแสงสว่างจะเจริญงอกงามและหญ้าที่ไม่ได้รับแสงสว่างจะไม่เจริญงอกงาม”
การตรวจสอบสมมติฐาน (testing the hypothesis)  สมมติฐานที่ตั้งขึ้นอาจมีหนึ่งหรือมากกว่าก็ได้  ต่อจากนั้นจึงนำสมมติฐานมาตรวจสอบข้อมูลและความสัมพันธ์ต่างๆ ดูว่า  สมมติฐานนั้นอันใดน่าจะเป็นจริงและอันใดไม่น่าจะเป็นจริงหรือเป็นไปได้ยากมาก  ต่อจากนั้นจึงสมมติฐานที่น่าจะเป็นไปได้มาศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาข้อสนับสนุน  หรือคัดค้านสมมิฐานนั้นว่าสามารถอธิบายปัญหาได้หรือไม่อย่างไร  การตรวจสอบสมมติฐานนของนักวิทยาศาสตร์มักใช้ วิธีการทดลอง (experiment)  สำรวจ (survey)  หรือการค้นคว้าเพิ่มเติมจากผลงานวิจัยที่มีผู้ทำการศึกษามาก่อนแล้ว  หรือใช้ทั้ง 3 อย่างประกอบกันประเมินดูว่า  สมมติฐานที่ตั้งไว้นั้นเป็นจริงได้หรือไม่เพียงใด

การทดลองเป็นวิธีการที่นักวิทยาศาสตร์ใช้กันมาก  การทดลงที่เชื่อถือได้โดยไม่มีข้อโต้แย้งจะต้องเป็นการทดลองการควบคุม (controlled  experiment)  ซึ่งหมายถึง  การทดลองที่ต้องมีการควบคุมตัวแปรหรือปัจจัยต่างๆ ยกเว้น  ปัจจัยที่ต้องการทดสอบเท่านั้น  การวางแผนการทดลองควบคุม  เช่น  

เราศึกษาเรื่อง “แสงสว่างมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโต ของพืชหรือไม่” ผู้ทดลองจะต้องกำหนดชนิดของพืช อายุ  ขนาด และความแข็งแรงของพืชให้พอๆ กัน ต่อจากนั้น แบ่งพืชออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
                1.กลุ่มทดลอง (experiment  group) คือกลุ่มพืชที่ไม่ได้รับแสงสว่าง

                2.กลุ่มควบคุม (control group) คือกลุ่มพืชที่ไดรับแสงสว่างเป็นปกติ

                ในระหว่างทำการทดลองนี้  พืชจะต้องได้รับปัจจัยต่างๆ เท่าเทียมกัน เช่น วิธีการปลูก เวลาปลูก ชนิดของดิน  ปุ๋ย  น้ำ  อุณหภูมิ  ฯลฯ  ต่างกันเฉพาะแสงสว่างเท่านั้น  การพิจารณาว่ากลุ่มใดเป็นกลุ่มทดลองหรือกลุ่มควบคุมนั้น  โดยทั่วไปจะถือเอากลุ่มที่เป็นปกติตามสภาพธรรมชาติเป็นกลุ่มควบคุม  ส่วนกลุ่มที่ทำให้แตกต่างจากสภาพธรรมชาติไปเป็นกลุ่มทดลอง

ตัวแปร (variable)  คือ ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการทดลอง เช่น การปลูกพืช  ตัวแปรก็คือชนิดของดิน  น้ำ  ปริมาณแสงสว่างที่พืชได้รับ อุณหภูมิ ปุ๋ย ฯลฯ  เป็นต้น  ตัวแปรมี 3 ชนิด คือ
1.ตัวแปรอิสระ (independent  variable)  คือ  ตัวแปรที่เราต้องการศึกษาโดยผู้ทำการทดลองเป็นผู้กำหนด เช่น  เราศึกษาเรื่อง “แสงสว่างมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชหรือไม่”  แสงสว่างจะต้องเป็นตัวแปรอิสระ  หรือถ้าศึกษาเรื่อง ชนิดของดินมีอิทธิพลต่อการเจริญงอกงามของต้นกุหลาบหรือไม่”  ในที่นี้ตัวแปรอิสระคือ ชนิดของดิน

2.ตัวแปรตาม (dependent  variable)  คือ  ตัวเปรที่แปรเปลี่ยนไปตามตัวอิสระ  เช่น  จากตัวอย่างในเรื่องตัวแปรอิสระ  ตัวแปรตาม คือ อัตราการเจริญเติบโตของพืช  และอัตราการเริญงอกงามของต้นกุหลาบ  โดยที  เมื่อปริมาณแสงสว่างเปลี่ยนแปลงไป  อัตราการเจริญเติบโตของพืชก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย หรือ เมื่อชนิดของดินเปลี่ยนแปลงไป อัตราการเจริญงอกงามของต้นกุหลาบก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย
 3.ตัวแปรคงที่  หรือตัวแปรที่ต้องควบคุม (controlled  variable)  คือตัวแปร อื่นๆ ที่เราไม่ต้องการให้มีผลต่อการทดลอง  ต้องควบคุมตลอดการทดลอง  เช่นเรื่อง  “แสงสว่างมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชหรือไม่”  ตัวแปรที่ต้องควบคุมคือ  ชนิดของดิน  อุณหภูมิ  ปริมาณน้ำ  ชนิดของพืช ขนาดที่ใช้ในการปลูก ฯลฯ  โดยต่างกันเรื่องเดียว คือ เรื่องแสงสว่างที่เป็นตัวแปรอิสระ
การเก็บรวมรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล (collecting data  and analysis data)                               เมื่อจบการทดลอง  เราจะได้ข้อมูลหรือผลการทดลองออกมา  ผลการทดลองก็คือข้อเท็จจริง  จากการทดลองนั่นเอง  การแปรผลและสรุปผลการทดลองก็คือการวิเคราะห์ (analysis) ผลการทดลองนั้นว่ามีความเป็นไปได้ตามสมมติฐานที่ตั้งไว้หรือไม่
สรุปผลการทดลอง (conclusion) เมื่อเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลแล้วจึงแปรผล และสรุปผลการทดลองเพื่อเป็นคำตอบของปัญหาต่อไป  เช่น  การทดลองเรื่องการปลูกพืชในที่มีแสงสว่างและไม่มีแสงสว่าง  ผลการทดลองคือ  พืชที่ได้รับแสงสว่างเจริญงอกงามดี  ส่วนพืชที่ไม่ได้รับแสงสว่างจะค่อยๆ ตายไป  จนหมดทั้งแปลงเราก็สามารถสรุปเพื่อตอบปัญหาได้ว่า “แสงสว่างมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช” เป็นต้น 
กฎ (law)  คือ  ความจริงพื้นฐาน (principle)  โดยมีความเป็นจริงในตัวของมันเองสามารถทดสอบได้และได้ผลเหมือนเดิมทุกครั้งโดยไม่ข้อโต้แย้ง เช่น กฎความต้องการต่ำสุดของลีบิก (Lie big’s  law of  the  minimum) กฎแห่งความทนทานต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงของเชลฟอร์ด  (Sheldford’s law of tolerance) กฎการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมของเมนเดล (Mendel’s law)  
ทฤษฎี (theory) คือ สมมติฐานที่ได้รับการตรวจสอบและทดลองหลายครั้งหลายหนจนสามารถอธิบายข้อเท็จจริง สามารถคาดคะเนทำนายเหตุการณ์ทั่วๆ ไปที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ชนิดเดียวกันนั้น ทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับกันแล้ว คือทฤษฎีเซลล์ (the cell theory) ทฤษฎีวิวัฒนาการ (the evolution theory)ทฤษฎีประชากรของมอลทัส (Maltus population theory) ทฤษฎียีน  (the gene theory)  เป็นต้น
      

ชีวจริยธรรม

ชีวจริยธรรม
                การศึกษาทางด้านชีววิทยาเป็นการศึกษาเรื่องของสิ่งมีชีวิต จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก ในการศึกษาและกระทำ  เพราะอาจจะผิดต่อขนบธรรมเนียมประเพณี  กฎหมาย  หรือจริยธรรมได้  เช่น 
                1.4.1  การโคลนนิ่งมนุษย์
                เพื่อใช้อวัยวะบางส่วนมารักษาโรคหรือเพื่อผลิต ลูกหลานขึ้นมาเพราะอาจมีปัญหาต่อสถาบันครอบครัวได้
                1.4.2  การทำแท้ง
                ในหลายประเทศสามารถทำแท้งได้แต่ในหลายประเทศก็เป็นการผิดกฎหมาย
                1.4.3  การใช้สัตว์ทดลองทางชีววิทยา
                เพื่อสัตว์ก็มีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์  ดังนั้นการทดลอง  ต้องไม่ทรมานสัตว์  และใช้สัตว์ให้น้อยที่สุด และได้ผลความรู้มากที่สุด  และต้องไม่ผิดกฎหมายด้วย
                1.4.4  การใช้สารเร่งการเจริญเติบโตในพืชหรือในสัตว์
                อันจะก่อให้เกิดสารตกค้างได้นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการใช้สารเร่งเรื้อแดงให้แก่เนื้อหมู  ซึ่งจะมีผลเสียต่อผู้บริโภคได้
                1.4.5  การใช้สารฟอร์มาลิน
                ในการแช่ผัก  ปลา  หรือเนื้อ  ช่วยให้ผัก  ปลา  และ  เนื้อเน่าเสียช้าลงแต่เป็นพิษต่อผู้บริโภคเป็นอย่างมาก  นอกจากนี้การใช้สารบอร์แรกซ์ใส่ในลูกชิ้นเด้ง  การฉีดดีดีที่ให้แก่ปลาเค็ม  เนื้อเค็ม ก็มีผลเสียต่อผู้บริโภคทั้งสิ้น
                1.4.6  การผลิตอาวุธชีวภาพ

                เช่น  การนำเชื้อโรคใส่ในซองจดหมาย  แล้วส่งไปในที่ต่างๆ  ทางไปรษณีย์  การปล่อยเชื้อโรคไปในที่สาธารณะ  การผลิตระเบิดติดหัวรบที่มีเชื้อโรค  ซึ่งเรียกว่า  อาวุธเชื้อโรค  หรืออาวุธชีวภาพ  ซึ่งเป็นอันตรายเป็นอย่างมาก  สิ่งต่างๆ เหล่านี้  ถือว่าผิดทางด้านชีวจริยธรรมทั้งสิ้นและเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงและตระหนักอยู่เสมอ  อันจะเป็นผลให้โลกของเราเกิดสภาพไม่สงบสุขได้



วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ชีววิทยาคืออะไร

ชีววิทยาคืออะไร
ชีววิทยาเป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต  ชีววิทยามีหลายสาขาได้แก่
1.1  การศึกษาสิ่งมีชีวิตและกลุ่มของสิ่งมีชีวิต
(1)  สัตววิทยา  (zoology)  เป็นการศึกษาเรื่องราวต่างๆ ของสัตว์  แบ่งออกเป็นสาขาย่อย ๆ เช่น
1.  สัตว์ไม่มีกระดูสันหลัง (invertebrate)
2.  สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง (vertebrate)
3.  มีนวิทยา (ichthyology)  ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับปลาชนิดต่างๆ
4.  สังขวิทยา  (malacology)  ศึกษาเกี่ยวกับหอยชนิดต่างๆ
5.  ปักษินวิทยา  (ornithology)  ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับนก
6.  วิทยาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (mammalogy)
7.  กีฏวิทยา  (entomology)  ศึกษาเกี่ยวกับแมลง
8.  วิทยาเห็บไร  (acarology)  ศึกษาเกี่ยวกับเห็บและไร
(2)  พฤกษศาสตร์ (botany)  ศึกษาเรื่องราวต่างๆ ของพืช  เช่น
1.  พืชชั้นต่ำ (lower  plant)                           
2.  พืชมีท่อลำเลียง  (yascular  plant)
3.  พืชมีดอก  (angiosperm)   
(3)  จุลชีววิทยา  (microbiology)  คือการศึกษาเรื่องราวต่างๆ ของจุลินทรีย์ เช่
1.  วิทยาแบคทีเรีย (bacteriology)  ศึกษาเกี่ยวกับแบคทีเรีย
2.  วิทยาไวรัส (virology)  ศึกษาเกี่ยวกับไวรัส
3.  ราวิทยา (mycology)  ศึกษาเกี่ยวกับ รา  เห็ด  ยีสต์
4.  วิทยาสัตว์เซลล์เดียว (protozoology)  ศึกษาเกี่ยวกับพวกไพรโทซัว
1.2  การศึกษาจากโครงสร้างหน้าที่และการทำงานของสิ่งมีชีวิต
(1)  กายวิภาคศาสตร์ (anatomy)  ศึกษาโครงสร้างต่างๆ  โดยการตัดผ่า
(2)  สัณฐานวิทยา (morphology) ศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างและรูปร่างของสิ่งมีชีวิต
(3)  สรีรวิทยา (physiology)  ศึกษาหน้าที่การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายของสิ่งมีชีวิต
(4)  พันธุศาสตร์ (genetics)  ศึกษาลักษณะต่างๆ  ทางพันธุกรรมและการถ่ายทอดลักษณะต่างๆ จากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน
(5)  นิเวศวิทยา  (ecology)  ศึกษาความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
(6)  มิญชยวิทยาหรือเนื้อเยื่อวิทยา (histology)  ศึกษาลักษณะของเนื้อเยื่อทั้งทางด้านโครงสร้างและหน้าที่การทำงาน
(7)  วิทยาเอมบริโอ (embryology)  ศึกษาลักษณะการเจริญเติบโตของตัวอ่อน
(8)  ปรสิตวิทยา  (parasitology)  ศึกษาเกี่ยวกับการเป็นปรสิตของสิ่งมีชีวิต
(9)  วิทยาเซลล์ (cytology)  ศึกษาโครงสร้างและหน้าที่ของเซลล์สิ่งมีชีวิต
1.3  การศึกษาเรื่องราวของสิ่งมีชีวิต
(1)  อนุกรมวิธาน (taxonomy)  ศึกษาเกี่ยวกับการแบ่งหมวดหมู่  การตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ
(2)  วิวัฒนาการ (evolution)  ศึกษาเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
(3)  บรรพชีวินวิทยา (paleontology)  ศึกษาเกี่ยวกับซากโบราณของสิ่งมีชีวิต

                ในปัจจุบันการศึกษาทางชีววิทยาได้พัฒนาไปมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology)  ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้กับสิ่งมีชีวิต  เช่น  การผลิตสารต่างๆ  เช่น  ผลิตกรดอะมิโน  ผลิตฮอร์โมน  อินซูลิน  ผลิตเอนไซม์  การเลี้ยงเนื้อเยื่อ  การผลิตก๊าซชีวภาพ  การโคลนนิ่ง (cloning)  การตัดต่อจีน  ซึ่งกระทำในพวกจุลินทรีย์  เพื่อประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมและการสาธารณสุข ซึ่งเรียกว่าพันธุวิศวกรรม (genetic  engineering)  ซึ่งกำลังเจริญพัฒนาอย่างรวดเร็วโดยการศึกษาของนักจุลินชีววิทยา  นักเคมี  และนักชีวเคมี