วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2557

โครงสร้างและหน้าที่ของใบ


ใบ (leaf) คือส่วนที่เจริญออกมาจากลำต้นทางด้านข้างของลำต้นเพื่อทำหน้าที่เป็นแหล่งสร้างอาหารซึ่งมักมีสีเขียวสดของคลอโรฟีลล์ใบโดยทั่วไปมักแบนแต่อาจเปลี่ยนแปลงไป เพื่อทำหน้าที่อย่างอื่น เช่น มือเกาะหนาม ทุ่นลอยน้ำ หรือดักจับแมลงได้ ใบเหล่านี้เกิดตามข้อของลำต้น และมักมีตาซอกใบ (leaf axial) หรือซอกมุมระหว่างใบกับกิ่งหรือใบกับลำต้น

หน้าที่ของใบ ใบมีหน้าที่ 3 ประการหลัก คือ
1. การสังเคราะห์ด้วยแสง ( photosynthesis ) เพื่อสร้างอาหารให้แก่พืช
2.การหายใจ ( respiration ) เพื่อสร้างพลังงานของพืช
3.การคายน้ำ ( transpiration ) เพื่อลดอุณหภูมิของใบและลำเลียงน้ำ เกลือแร่ และอาหารให้แก่พืชนอกจากนี้ยังมีหน้าที่อื่นๆ อีกซึ่งจะได้กล่าวในเรื่องใบพิเศษหรือใบที่เปลี่ยนแปลง ไปต่อไป


 ชนิดของใบ ใบของพืช มีหลายชนิดได้แก่
1. ใบเลี้ยง (cotyledon) คือใบแรกที่อยู่ในเมล็ด ทำหน้าที่สะสมอาหารเพื่อเลี้ยงต้นอ่อน เช่น ใบเลี้ยงของพืช ใบเลี้ยงคู่พวกถั่วเหลือง ถั่วเขียว มะม่วง มะขาม หรืออาจทำหน้าที่ย่อยและดูดซึมอาหารสะสมในรูปของเอนโดสเปิร์ม เพื่อเลี้ยงต้นอ่อนของพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น ข้าว ข้าวโพด มะพร้าว เป็นต้น

2. ใบเกล็ด (scale leaf) เป็นใบที่ไม่มีสีเขียว มักมีสีน้ำตาล เจริญมาจากใบแท้ทำหน้าที่ห่อหุ้มตายอดอ่อนทั้งบนดินและใต้ดินเพื่อป้องกันอันตรายใบเกล็ดบางชนิดทำหน้าที่สะสมอาหาร เช่น ใบเกล็ดของหอม กระเทียม เป็นต้น
3. ใบดอก (floral leaf) เป็นส่วนของใบที่เปลี่ยนแปลงไปมีลักษณะคล้ายดอกมีสีสันสวยงามทำหน้าที่ล่อแมลงให้มาผสมเกสร ใบดอกนี้ทำหน้าที่รองรับดอกที่เรียกว่า ใบประดับ (bract หรือ  floral leaf) ได้แก่ใบสีแดงของดอกหน้าวัว และอุตพิด กาบปลีของกล้วย ใบสีแดง สีส้ม สีขาวเฟิ้งฟ้า ใบสีแดงของคริสต์มาส ใบสีขาวของต้นดอนย่า
4. ใบแท้ (foliage leaf) คือใบสีเขียวที่เราพอทั่วๆ ไปมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ
  • 4.1 ตัวใบ (lamina หรือ blade) เป็นส่วนของใบที่มีลักษณะแบนๆ และเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของใบ การที่ใบมีลักษณะบางทำให้ใบมีพื้นที่ผิวมาก และสัมผัสกับแสงได้มาก ทำให้สังเคราะห์ด้วยแสงได้มากด้วยภายในตัวใบจะมีส่วนที่เป็นสันนูนอยู่กลางใบเรียกว่า เส้นกลางใบ (midrib) โดยเส้นกลางใบจะต่อมาจากก้านใบ จากเส้นกลางใบมีแขนงแยกออกไปมากมายทุกส่วนเรียกว่า เส้นใบ (vein) เส้นใบมีการจัดเรียงตัวเป็น 2 แบบ คือ
  • 4.1.1การจัดเรียงตัวของเส้นใบแบบตาข่าย(netted venation) โดยเส้นใบย่อยจะแตกกิ่งก้านสาขาจากเส้นกลางใบในลักษณะที่เล็กลงตามลำดับและสานกันเป็นตาข่ายพบในพืชใบเลี้ยงคู่ เช่น ใบมะม่วง ใบชมพู่ ใบฝรั่ง ใบชา ใบพู่ระหง ใบขนุน ใบมะนาว ใบส้ม เป็นต้น
  • 4.1.2การจัดเรียงตัวของเส้นใบแบบขนาน (paralleled venation) เป็นการจัดระเบียบของเส้นใบแบบขนานกันตลอด แม้จะมีแขนงของเส้นใบก็ยังคงขนานกันอยู่ อยู่การจัดเรียงตัวนี้ ยังแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดเรียงตัวจากฐานใบไปสู่ยอดใบ (basal paralleled venation) เช่น ใบอ้อย ใบหญ้า ใบข้าว ใบข้าวโพดและชนิดจากแกนกลางใบออกไปสู่ขอบใบ(costal paralleld venation) เช่น ใบตอง ใบพุทธรักษา เป็นต้น

นอกจากนี้ ขนาดของใบ รูปร่างของใบ ลักษณะของใบ ผิวใบ ปลายใบ ยังแบ่งออกเป็นชนิดต่างๆ อีกมากมาย ตามชนิดของพืชซึ่งแตกต่างกันออกไป
  • 4.2 ก้านใบ (petiole) เป็นส่วนที่ต่อระหว่างลำต้นกับตัวใบ โดยทั่วไปแล้วก้านใบของพืชใบเลี้ยงคู่มักจะมีลักษณะเป็นเส้นกลมหรือค่อนข้างกลมส่วนก้านใบของพืชใบเลี้ยงเดี่ยวมักจะแผ่เบนเป็นกาบ (sheath) หุ้มลำต้นและตาเอาไว้อีกทีหนึ่ง
  • 4.3 หูใบ (stipule) เป็นส่วนของใบพืชที่ยื่นออกมาจากโคนก้านใบบริเวณที่ติดกับลำต้น หูใบมักมีสีเขียวจึงสามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้ด้วย หูใบอาจมี 1 หรือ 2 หรืออาจหลุดร่วงไปทำให้มองไม่เห็นและพบหูใบได้ในพืชบางชนิด เช่น พู่ระหง ชบา กุหลาบ


2 ความคิดเห็น: